ในยุคที่เทคโนโลยีและการจัดการข้อมูลกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เราต้องการวิธีในการจัดเก็บและจัดการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ หลายๆคนอาจจะเคยได้ยินหรือได้ใช้ Cloud กันมาบ้างแล้ว แต่อาจจะยังไม่เข้าใจว่าจริงๆแล้ว Cloud คืออะไร ครั้งนี้เรามาทำความรู้จักกับ “Cloud Services” หรือบริการคลาวด์ เพื่อไขข้อมสงสัย และทำไมถึงมีความสำคัญในปัจจุบัน
Cloud Service คืออะไร?
Cloud Service หรือบริการคลาวด์ คือเทคโนโลยีที่ให้บริการระบบคอมพิวเตอร์แบบเครือข่ายออนไลน์ ตั้งแต่การให้บริการการจัดเก็บข้อมูล, บริการซอฟต์แวร์และแหล่งทรัพยากรคอมพิวเตอร์ผ่านอินเทอร์เน็ต นั่นหมายความว่าเราไม่จำเป็นต้องเก็บข้อมูลหรือเรียกใช้ทรัพยากรคอมพิวเตอร์บนเครื่องคอมพิวเตอร์หรือเซิร์ฟเวอร์ของเราเองในการทำงาน แต่เราสามารถใช้แหล่งทรัพยากรคอมพิวเตอร์ที่อยู่บน Cloud ของผู้ให้บริการได้ ตราบใดที่เรายังมีเครื่องมืออิเล็กโทรนิคและอินเตอร์เน็ต เราสามารถเข้าถึงไฟล์ที่เราเก็บไว้หรือใช้ทรัพยากรคอมพิวเตอร์ใน Cloud ที่ไหนและเมื่อไหร่ก็ได้
ประโยชน์หลักของ Cloud Services
เมื่อเรารู้แล้วว่า Cloud คืออะไร เรามาดูกันว่าการใช้บริการ Cloud มีข้อดีที่สามารถนำมาใช้ในทั้งธุรกิจและการใช้งานส่วนบุคคลอะไรได้บ้าง
ความคุ้มค่า (Cost-Efficiency): การใช้บริการ Cloud ช่วยลดค่าใช้จ่ายในด้านซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ เนื่องจากเราจะจ่ายเฉพาะทรัพยากรที่ใช้งานจริง และไม่ต้องลงทุนในการสำรองข้อมูลหรืออัพเกรดฮาร์ดแวร์เอง
ความสามารถในการปรับขนาด (Scalability): Cloud สามารถปรับขนาดทรัพยากรคอมพิวเตอร์ตามความต้องการได้ทันที ดังนั้นเราไม่ต้องกังวลเรื่องการขาดทรัพยากรหรือการใช้ทรัพยากรเกินไปหรือการต้องเสียค่าใช้จ่ายในการอัพเกรดทรัพยากรคอมพิวเตอร์โดยไม่จำเป็น
การเข้าถึงจากทุกที่ (Accessibility): สามารถเข้าถึงข้อมูลและแหล่งทรัพยากรคอมพิวเตอร์ได้ทุกที่และทุกเวลาที่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ซึ่งทำให้สามารถทำงานที่ไหนและเมื่อไหร่ก็ได้ที่ต้องการ
ผู้ให้บริการ Cloud Services
ที่นี้ลองมาดูผู้ให้บริการ Cloud Services ขนาดใหญ่และเป็นที่นิยมบนตลาดกัน ว่ามีเจ้าไหนคุ้นหูคุ้นตากันบ้าง
Amazon Web Services (AWS): เป็นผู้ให้บริการคลาวด์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกและมีบริการหลากหลายที่ครอบคลุมทุกด้านของคลาวด์คอมพิวเตอร์
Microsoft Azure: ถูกพัฒนาโดย Microsoft และเน้นคลาวด์คอมพิวเตอร์สำหรับธุรกิจและองค์กร
Google Cloud Platform (GCP): มีความเชี่ยวชาญในการประมวลผลข้อมูล เทคโนโลยี AI และ Machine Learning
เปรียบเทียบผู้ให้บริการบริการคลาวด์ (Cloud Service Providers)
เราจะมาลองเปรียบเทียบผู้ให้บริการแต่ละเจ้าว่ามีคุณสมบัติสำคัญเด่นๆอะไรกันบ้าง
การเสนอบริการ (Service Offerings):
AWS: มีช่วงของบริการที่หลากหลายและมีโครงสร้างพื้นฐานระดับโลกที่สูงที่สุด ทำให้เหมาะสำหรับองค์กรขนาดใหญ่และอุตสาหกรรมต่าง ๆ
Azure: มีชุดของบริการที่หลากหลายและใช้งานร่วมกับผลิตภัณฑ์ของ Microsoft ได้ดี ทำให้เป็นตัวเลือกยอดนิยมสำหรับองค์กรที่ใช้ผลิตภัณฑ์ของ Microsoft
GCP: มีการเน้นที่การวิเคราะห์ข้อมูลและเทคโนโลยี Machine Learning ทำให้เป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับองค์กรที่ต้องการการประมวลผลข้อมูลขั้นสูง
โครงสร้างราคา (Pricing Structure):
AWS: มีโครงสร้างราคา Pay-as-You-Go ซึ่งทำให้คุณเสียเงินเฉพาะสำหรับทรัพยากรที่คุณใช้งาน เนื้อหาฟรีสำหรับผู้ใช้ใหม่
Azure: ใช้โครงสร้างราคา Pay-as-You-Go เช่นกันและมีตัวเลือกราคาต่าง ๆ รวมถึงการสนับสนุนราคาพิเศษสำหรับลูกค้า Microsoft
GCP: ใช้โครงสร้างราคา Pay-as-You-Go และมีส่วนลดสำหรับการใช้บริการอย่างต่อเนื่องและตัวเลือกราคาที่กำหนดเองสำหรับบริการที่เฉพาะเจาะจง
ความสามารถในการปรับขนาดและความยืดหยุ่น (Scalability and Flexibility):
AWS: ให้ความสามารถในการปรับขนาดและมีบริการอย่างหลากหลายเพื่อการยืดหยุ่นในการใช้ทรัพยากร
Azure: ผสมการใช้งานอย่างองค์รวมกับการยืดหยุ่นที่แตกต่างกันเพื่อรองรับความต้องการ
GCP: มีความเน้นที่การจัดการ Kubernetes และคอนเทนเนอร์
เครื่องมือและบริการสำหรับนักพัฒนา (Developer and DevOps Tools):
AWS: มีเครื่องมือนักพัฒนาที่มีประสิทธิภาพ เช่น AWS CodeDeploy และ AWS CodePipeline
Azure: ผสมการใช้งานอย่างองค์รวมกับเครื่องมือการพัฒนาของ Microsoft เช่น Visual Studio และ Azure DevOps
GCP: มีเครื่องมือที่เป็นมิตรต่อนักพัฒนาและมีการเน้นที่ Kubernetes และคอนเทนเนอร์
นอกจากบริการหลักที่แตกต่างกันระหว่างผู้ให้บริการคลาวด์แต่ละรายยังมีเครื่องมือและบริการที่พิเศษที่ช่วยให้ใช้คลาวด์อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย
Amazon Web Services (AWS):
Amazon Elastic Compute Cloud (EC2): บริการเครื่องคอมพิวเตอร์เสมือน (Virtual Machines) ที่ให้เราสร้างและจัดการเครื่องเสมือนเพื่อรันแอปพลิเคชันและเว็บไซต์บนคลาวด์ของ AWS
Amazon S3 (Simple Storage Service): บริการเก็บข้อมูลที่ใช้สำหรับการเก็บข้อมูลสำรอง การสำรองข้อมูล และการจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบวัตถุ
Amazon RDS (Relational Database Service): บริการ Relational Database ที่ทำให้สามารถสร้างและดูแลฐานข้อมูล MySQL, PostgreSQL, Oracle, และ Microsoft SQL Server ได้โดยง่าย
Microsoft Azure:
Azure Virtual Machines: บริการเครื่องคอมพิวเตอร์เสมือน (Virtual Machines) ในคลาวด์ที่สามารถใช้งาน Windows หรือ Linux
Azure Blob Storage: บริการเก็บข้อมูลสำรองแบบมีค่าเพียงจ่ายตามการใช้งาน
Azure SQL Database: บริการ Relational Database ที่เหมาะสำหรับแอปพลิเคชันและเว็บไซต์
Google Cloud Platform (GCP):
Google Kubernetes Engine (GKE): บริการจัดการ Kubernetes ที่ช่วยให้เราสร้างและดูแลคลัสเตอร์ Kubernetes ได้อย่างง่ายดาย
Google Cloud Storage: บริการเก็บข้อมูลที่มีความปลอดภัย
BigQuery: บริการคลาวด์สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลแบบเร็วที่สามารถใช้ในการค้นหาและวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่
Google Cloud Pub/Sub: บริการส่งข้อมูลแบบ Pub-Sub สำหรับแอปพลิเคชันแบบสองทาง.
Google Cloud AI: สร้างและเรียนรู้จากข้อมูลด้วยบริการ Deep Learning และ A.I. ปัญญาประดิษฐ์
นี่แค่ตัวอย่างของเครื่องมือที่ได้รับความนิยมในแต่ละเจ้าและยังมีเครื่องมืออื่น ๆ อีกมากมายที่ให้บริการในคลาวด์ของผู้ให้บริการเจ้าต่าง ๆ ที่จะช่วยในการทำงานของเราอีกด้วย
ตัวอย่างการใช้งานของ Cloud Service ในชีวิตประจำวัน
หลังจากอธิบายมาข้างต้นแล้ว เราลองมาดูในส่วนของการใช้งานที่เราอาจจะคุ้นเคยในชีวิตประจำวันกันบ้าง
การเก็บข้อมูลส่วนตัวในคลาวด์: หลายคนใช้บริการเก็บข้อมูลส่วนตัวเช่น Dropbox, Google Drive, หรือ Microsoft OneDrive เพื่อจัดเก็บรูปภาพ, เอกสาร, และไฟล์ส่วนตัวในคลาวด์เพื่อให้สามารถเข้าถึงและแชร์ข้อมูลจากทุกที่
อีเมล์: อีเมล์บริการเจ้าใหญ่ ๆ เช่น Gmail หรือ Outlook.com ทำงานบนคลาวด์ ทำให้สามารถเข้าถึงอีเมล์ได้ทุกที่
การสตรีมมิ่งหนังและเพลง: บริการสตรีมมิ่งเพลงและวิดีโอออนไลน์เช่น Spotify, Netflix, หรือ Disney+ ใช้คลาวด์เพื่อส่งสัญญาณเนื้อหาไปยังอุปกรณ์แบบเรียลไทม์
การเล่นเกมออนไลน์: บริการเล่นเกมออนไลน์เช่น Xbox Live, PlayStation Network, หรือ Steam ใช้คลาวด์เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการให้บริการเกมและเชื่อมต่อผู้เล่นทั่วโลก
การใช้งานโปรแกรมและแอปพลิเคชันออนไลน์: มีแอปพลิเคชันและโปรแกรมออนไลน์มากมายที่ใช้บริการคลาวด์เพื่อประโยชน์ในการจัดการงาน เช่น Microsoft Office Online, Google Docs, และ Adobe Creative Cloud
การทำงานระยะไกลและการประชุมออนไลน์: บริการคลาวด์เช่น Zoom, Microsoft Teams, และ Slack ช่วยให้ทำงานระยะไกลและประชุมออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การติดตามการจัดส่งและการสั่งอาหารออนไลน์: แอปพลิเคชันการสั่งอาหารและการจัดส่งเช่น GrabFood, Foodpanda, และ Lineman ใช้คลาวด์เพื่อติดตามการจัดส่งและการสั่งอาหารออนไลน์
จะเห็นได้ว่าแต่ละอย่างนั้นอยู่ใกล้ตัวเรามาก ๆ เราอาจจะกำลังใช้บริการ Cloud Service กันอยู่โดนไม่รู้ตัวก็ได้ว่าจริงๆแล้วบริการที่เราใช้นั้นก็เป็น Cloud Service เหมือนกัน
ตัวอย่างการใช้งานของ Cloud Service ในองค์กร
ทีนี้เรามาดูในระดับองค์กรกันบ้างว่าองค์กรไหนใช้ Cloud Service ทำอะไรกันบ้าง
Shopee ใช้ AWS:
Shopee แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซออนไลน์ที่ยอดเยี่ยมในเอเชีย ใช้ Amazon Web Services (AWS) เพื่อเสริมสนับสนุนการขยายธุรกิจและการทำงาน
True Corporation ใช้ Microsoft Azure:
True Corporation บริษัทโทรคมนาคมและเทคโนโลยีในประเทศไทย ใช้ Microsoft Azure เพื่อให้บริการคลาวด์และโซลูชันองค์กรต่าง ๆ ให้กับลูกค้าทางธุรกิจ
Central Group ใช้ Google Cloud:
กลุ่มเซ็นทรัล บริษัทค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ใช้ Google Cloud Platform (GCP) เพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลและอื่น ๆ เพื่อปรับปรุงการบริการลูกค้าและการจัดการโรงงาน
PTT Group ใช้ AWS:
กลุ่มปตท (PTT Group) บริษัทพลังงานใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ใช้ Amazon Web Services (AWS) เพื่อรองรับการจัดการข้อมูลและความปลอดภัย
เป๋าตัง ใช้ Google Cloud:
แอปพลิเคชันเป๋าตัง ใช้ Google Cloud Platform (GCP) โดยกานำ Google Kubernetes Engine (GKE) มาใช้ในการพัฒนาแพลตฟอร์มและบริการ ให้ผู้ใช้บริการชาวไทยมากกว่า 30 ล้านคน
องค์กรเหล่านี้ใช้บริการคลาวด์จากผู้ให้บริการต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนธุรกิจและการให้บริการ ซึ่งแต่ละองค์กรก็มีความต้องการและวัตถุประสงค์ในการใช้บริการคลาวด์ที่แตกต่างกันไป
สรุป
Cloud Services เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์อย่างมากสำหรับการจัดเก็บข้อมูลและการทำงานที่มีความสามารถในการปรับขนาดและเข้าถึงได้จากทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการหรือบุคคลทั่วไป Cloud Services สามารถเป็นประโยชน์ในหลายแง่มุมและช่วยให้ใช้งานข้อมูลและทรัพยากรคอมพิวเตอร์อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน
หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์และทำให้เข้าใจ Cloud Service กันมากขึ้น แต่ถ้ายังมีข้อสงสัยเพิ่มเติมสามารถติดต่อพวกเรา Davoy ได้เลย เรามีทีมผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษา สามารถกรอกรายละเอียดในแบบฟอร์มด้านล่างได้เลย